ผ้ามหาบังสกุล เรือลอยอังคาร กองเรือ โทร.033-147689 มือถือ 095-7233739
ผ้ามหาบังสุกุล
เรือลอยอังคาร กองเรือ โทร.033-147689 LINE ID 033147689
- ลำพังตัวผ้าบังสุกุลผืนเล็ก ๆ ไม่มีชีวิตจิตใจ คงไม่มีปัญหาอะไรมาก ประเด็นปัญหาในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของคนที่นำผ้าบังสุกุลไปใช้ว่าใช้กับใคร ใช้ในงานอะไร และใช้อย่างไร เมื่อปัญหาอยู่ที่คนไม่ใช่ที่ผ้า ถ้าได้มีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจกัน ผมเชื่อว่าผู้ที่เป็นกัลยาณชนย่อมจะเปิดใจรับฟังและยอมรับในเหตุและผล เพื่อว่าปัญหาว่าด้วยผ้าบังสุกุลในปัจจุบันจะได้รับการแก้ไข ดังนั้น จึงขอเชิญทั้งแฟนพันธุ์แท้ร่มประดู่ สมาชิกใหม่ และผู้สนใจใฝ่รู้ทั่วไปได้ใช้เวทีแห่งนี้ร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาว่าด้วยผ้าบังสุกุล ให้มีมาตรฐานการใช้ที่เป็นเอกภาพหมือนกันทั่วประเทศ โดยผู้เขียนขอใช้บทความเรื่องนี้เป็นสื่อนำร่อง บังสุกุล : คำแปลและความหมาย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้คำจำกัดความคำ บังสุกุล ไว้ว่า เรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ หรือผ้าที่ทอดหน้าศพ หรือที่ทอดบนสายสิญจน์ หรือภูษาโยง ที่ต่อจากศพด้วยการปลงกรรมฐานว่า ผ้าบังสุกุล, เรียกกิริยาที่พระภิกษุชักผ้าเช่นนั้นว่า ชักบังสุกุล, (ปาก) บังสกุล ก็ว่า และบอกที่มาของ บังสุกุล ว่าใช้ทับศัพท์ ปํสุกูล ในภาษาบาลี ที่แปลว่า ฝั่งแห่งฝุ่น กองฝุ่น หรือคลุกฝุ่น ซึ่งจากคำจำกัดความดังกล่าว ผมขอขยายความต่อยอดดังนี้
- 1. บังสุกุลในความหมายเก่า (ก่อนพุทธกาล) เป็นความหมายตามรูปศัพท์คือผ้าเปื้อนฝุ่น เพราะเป็นชื่อเรียกผ้าห่อศพ ผ้าที่ตกอยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น ถนนหนทาง ป่าดง ป่าช้า และกองขยะ ผ้าที่ตกอยู่ที่ประตูร้านตลาดผ้าที่เขาเช็ดมลทินแห่งครรภ์แล้วนำมาทิ้ง ผ้าเก่าที่ทิ้งไว้ที่ท่าน้ำ ผ้าไฟไหม้ ผ้าที่หมอผีรดน้ำมนต์ตั้งแต่ศีรษะ (ซึ่งถือเป็นผ้ากาลกรรณีหรือผ้าอัปมงคล) และผ้าโคเคี้ยว เป็นต้น
- 2. บังสุกุลในความหมายใหม่ (สมัยพุทธกาล) เป็นชื่อเรียกผ้าที่พระพุทธเจ้า และพระภิกษุชักบังสุกุลจากศพบ้าง ชักบังสุกุลจากผ้าเก่า ผ้าขาด ผ้าเปื้อน ผ้าทิ้ง ผ้าตกหล่น ตามที่ต่าง ๆ บ้าง และผ้าที่บุคคลต้องการบุญทิ้งไว้ด้วยตั้งใจให้พระภิกษุพิจารณาชักบังสุกุลบ้าง ซึ่งก็คือผ้าบังสุกุลที่มีอยู่ก่อนพุทธกาล แต่พระพุทธเจ้าทรงนำมาให้คุณค่าความหมายใหม่ เนื่องจากเมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ ยังมิได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับคหบดีจีวร (จีวรที่ชาวบ้านถวายโดยเฉพาะ) ทรงอนุญาตแต่เพียงให้ภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุล ตามความหมายแรก นำมาซักฟอก ตัด เย็บ และย้อมเป็นสบง จีวร หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งแล้วใช้นุ่งห่ม
- 3. บังสุกุลในความหมายร่วมสมัย (ในปัจจุบัน) เป็นชื่อเรียกผ้าที่ทอดไว้หน้าศพ หรือทอดทับบนสายโยง (ลักษณะเดียวกับสายสิญจน์ แต่ใช้ในงานศพ เรียกตามอาการที่โยงจากศพออกมาภายนอก - ผู้เขียน) หรือภูษาโยงที่โยงจากศพ จากโกศใส่อัฐิ จากรูปผู้ตาย หรือจากพานใส่รายชื่อผู้วายชนม์ ในพิธีบำเพ็ญกุศลศพ หรือในพิธีทักษิณานุประทาน เพื่อให้พระภิกษุได้พิจารณาชักบังสุกุล ซึ่งนับเป็นความหมายเดียวกันกับที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้คำจำกัดความไว้ ความเป็นมาผ้ามหาบังสุกุล
- คติความเชื่อเรื่องการทอดผ้าบังสุกุลในพิธีบำเพ็ญกุศลศพ หรือพิธีทักษิณานุประทานก็ดี การพิจารณาชักผ้าบังสุกุลของพระภิกษุก็ดี ที่นิยมปฏิบัติกันในปัจจุบัน นับเป็นการดำเนินตามพระพุทธจริยวัตร เมื่อครั้งปฐมโพธิกาล (มีหลักฐานในอุรุเวลปาฏิหาริยกถา มหาขันธกะ พระวินัยปิฎกมหาวรรค ภาค 1) ที่ครั้งหนึ่ง ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในสำนักท่านอุรุเวลกัสสปะ หัวหน้าชฎิล 500 ครั้งนั้น นางปุณณทาสี หญิงคนใช้ในเรือนราชคฤห์เศรษฐี ในนครราชคฤห์ ได้เสียชีวิตลง ท่านเศรษฐีผู้เป็นนายได้กรุณาให้คนใช้ผ้าเนื้อดีพันศพ แล้วให้นำศพไปทิ้งในป่าช้าตามคติความเชื่อในสมัยนั้น ซึ่งประจวบกับพระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะหาผ้ามาทำสังฆาฏิ จึงเสด็จไปที่ป่าช้าแห่งนั้น ในขณะนั้นศพนางปุณณทาสี กำลังขึ้นอืดพอง มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหล มีหนอนไต่ไชชอนทั่วร่าง พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาศพนางปุณณทาสี โดยความเป็นปฏิกูลสัญญาแล้ว จึงทรงชักผ้าที่พันศพนางปุณณทาสี เมื่อทรงสลัดผ้าให้หนอนประมาณหนึ่งทะนานหล่นจากผ้าแล้ว จึงทรงถือเอาผ้าบังสุกุลนั้น เสด็จไปยังที่ประทับเพื่อหาที่ควรซักผ้าต่อไป ก่อนจะทรงนำผ้านั้นไปซักฟอกที่สระโบกขรณี ขยำบนแผ่นหินใหญ่ที่ท้าวสักกเทวราชทรงขุดด้วยเทวฤทธิ์ แล้วจึงทรงตากผ้าที่ต้นกุ่มใกล้สระโบกขรณี ที่เทพยดาเนรมิตให้ตามพุทธประสงค์ ทรงพับผ้า ที่แผ่นศิลาเนรมิตของท้าวสักกเทวราชอีกครั้ง และทรงให้ตัด เย็บ ย้อมเป็นผ้าสังฆาฏิ สำหรับทรงใช้ส่วนพระองค์ อาศัยเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ ไม่น่าจะทรงทำเช่นนั้นได้ แต่เมื่อไม่ทรงถือพระองค์ ทรงละมานะแห่งกษัตริย์ กระทำสิ่งเหลือเชื่อได้ถึงปานนั้น จึงถือเป็นพระพุทธจริยวัตรที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เป็นเหตุให้แผ่นดินแสดงอาการเลื่อนลั่นสั่นสะเทือนถึง 3 ครั้ง พระเทพสิทธิมุนี ญาณสิทธิเถระ พระอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิปัสสนา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพฯ ได้รจนาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ เล่มหนึ่งชื่อ “กฐิน – ผ้าป่า – อานิสงส์” ในตอนที่ว่าด้วยประวัติผ้าป่าและผ้าบังสุกุล พระคุณท่านได้เขียนยกย่องผ้าห่อศพนางปุณณทาสีที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาโดยความเป็นปฏิกูลสัญญา แล้วจึงชักบังสุกุลว่า ผ้ามหาบังสุกุล การที่พระเทพสิทธิมุนี จงใจใช้คำเรียกผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงชักบังสุกุลจากศพนางปุณณทาสีด้วยความเคารพยกย่องอย่างสูงสุด ว่า ผ้ามหาบังสุกุล นั้น ผู้เขียนขอสรุปเหตุผลออกมาเป็น 3 ประการ ได้แก่
- 1. การชักบังสุกุลครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกและผ้าบังสุกุลผืนแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
- 2. การชักบังสุกุลครั้งนั้นถือเป็นครั้งสำคัญ ที่แม้แต่แผ่นดินยังแสดงความอัศจรรย์เลื่อนลั่นสั่นสะเทือนรู้เห็นเป็นพยาน
- 3. การชักบังสุกุลครั้งนั้นจัดเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เป็นปฐมบทแห่งการแสวงหาผ้ามาทำเครื่องนุ่งห่มของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทั้งทรงประสงค์สอนให้พระภิกษุรู้จักประมาณในการบริโภคปัจจัยจำเป็นคือเครื่องนุ่งห่ม ทรงประสงค์ให้รู้จักใช้เครื่องนุ่งห่มทุกชนิดทุกผืนอย่างประหยัดและคุ้มค่า และทรงชักผ้าบังสุกุลให้เห็นเป็นแบบอย่าง ด้วยมีพระพุทธประสงค์ ให้พุทธบริษัทเจริญรอยตามพระพุทธจริยวัตร และถือเป็นจุดเริ่มพัฒนาการผ้าบังสุกุลที่เป็นต้นตำนานแห่งการทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ ผ้าบังสุกุลที่ทอดทับบนสายโยง หรือภูษาโยงที่ต่อจากศพ การพิจารณาชักผ้าบังสุกุลของพระภิกษุในพิธีบำเพ็ญกุศลศพ และพิธีทักษิณานุประทาน เพื่ออุทิศกุศลผลบุญให้ผู้วายชนม์ ตามคติความเชื่อของชาวพุทธที่นิยมปฏิบัติสืบมาจนเป็นประเพณีในปัจจุบัน
- ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประการ ที่หลอมรวมกันเป็น ผ้ามหาบังสุกุล ดังกล่าว ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาคุณ พระวิสัยทัศน์ พระอัจฉริยภาพ และพระจริยวัตร พิเศษเฉพาะพระพุทธเจ้า เท่านั้น จึงหาสมควรที่พุทธบริษัทคนใดจะนำคำว่า ผ้ามหาบังสุกุล ไปใช้เรียกชื่อผ้าที่ภิกษุชักจากศพ หรือผ้าที่ทอดหน้าศพ ทอดบนสายโยง หรือทอดบนภูษาโยง ในพระราชพิธี หรือพิธีบำเพ็ญกุศลศพ หรือพิธีทักษิณานุประทาน ที่ปฏิบัติสืบสานกันอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใดไม่ หรือหากจะมีพิธีกรคนใดต้องการจะยกย่องเชิดชูผู้ที่เป็นประธานในพิธี ในกรณีที่จัดให้มีการทอดผ้าหลายผืน หรือหลายไตร เพียงการใช้คำเรียกชื่อว่า ผ้าบังสุกุล หรือผ้าไตรบังสุกุล ก็นับเป็นการเชิดชูผู้ที่เป็นประธานในพิธี ว่าได้ให้เกียรติทำหน้าที่เจริญรอยตามพระพุทธจริยวัตรอย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว
- ผ้าบังสุกุลกับผ้าป่า แม้พระเทพสิทธิมุนีและผู้รู้หลายท่านให้ความเห็นไว้สอดคล้องต้องกันว่า ผ้าป่า ก็คือผ้าบังสุกุล เพราะ ผ้าป่า แปลมาจากคำว่า บังสุกุลจีวร ในภาษาบาลี เหตุนี้ ผ้าป่ากับผ้าบังสุกุลจึงเหมือนกันในแง่เป็นผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าดง ป่าช้า กองขยะ ประตูร้านตลาด ตามถนนหนทาง เป็นเศษผ้า เหลือจากไฟไหม้ จากโคเคี้ยว และห้อยอยู่ตามกิ่งไม้ เหมือนกัน ที่สุดจนกระทั่ง ผ้าที่เขาอุทิศวางแทบเท้าภิกษุ ก็เรียก ผ้าป่า แต่ในความเหมือนก็ยังมีความต่าง เหมือนคนที่เกิดมาเป็นฝาแฝด แม้รูปร่างหน้าตาสูงต่ำดำขาวจะละม้ายคล้ายคลึงกันทุกอย่าง แต่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ก็ยังต่างกันได้ ฉันใด ความต่างของผ้าบังสุกุลกับผ้าป่าก็เช่นกัน ไม่ได้พิจารณากันที่ว่า เนื้อผ้าหยาบหรือละเอียด สีขาวหรือสีดำ เปื้อนฝุ่นมากหรือน้อย แต่พิจารณากันที่มีเจตนาอุทิศ หรือจาคเจตนาแฝงอยู่ในผ้านั้นหรือไม่ เพราะผ้าบังสุกุลในอดีต (ก่อนพุทธกาล) ผู้ที่นำศพมาทิ้งพร้อมผ้า ก็มุ่งประสงค์ให้เป็นผ้าห่อศพมิให้อุจาด หรือแม้เป็นผ้าทิ้งตามป่าดง ป่าช้า กองขยะ ตามถนนหนทาง ประตูร้านตลาด ผ้าขาด ผ้าเก่า หรือผ้ากาลกรรณี แม้ไม่มีจิตคิดหวงแหน แต่ก็ล้วนไม่มีเจตนาอุทิศให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งนำไปทำผ้านุ่งผ้าห่มหรือผ้าทาบ แฝงอยู่ในผ้ามาก่อน ผ้าบังสุกุลบางผืนอาจเกิดจากความประมาทพลั้งเผลอทำตกหล่น หรือเจ้าของเห็นว่าไร้ประโยชน์แล้ว จึงนำมาทิ้ง จากประเด็นนี้จึงเป็นเหมือนดัชนีชี้ให้เห็นว่า ผ้าบังสุกุล มีความเป็นมาเก่าแก่กว่าผ้าป่า นานนับพัน ๆ ปี ในขณะที่ผ้าป่าจะแฝงจาคเจตนาของทายกที่ต้องการอุทิศให้เป็นประโยชน์กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ที่เผอิญผ่านมาพบเจอ ได้พิจารณานำผ้าที่ “แกล้ง” วางไว้ตามกิ่งไม้ก็ดี ตามถนนหนทางก็ดี หรือแม้แต่วางไว้แทบเท้าพระภิกษุก็ดี ไปซักฟอก ตัด เย็บ และ ย้อมทำเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม หรือผ้าทาบตามที่ต้องการ ล้วนแฝงด้วยเจตนาแห่งการอุทิศ คือเสียสละให้เป็นสังฆทาน (ให้โดยไม่เจาะจง) ซึ่งจากประเด็นนี้ก็เป็นเหมือนดัชนีช่วยชี้ให้เห็นกันชัด ๆ เช่นกัน ว่าผ้าป่าเพิ่งจะมามีขึ้นในสมัยพุทธกาล หลังจากพระพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับคหบดีจีวรแล้ว หรือประมาณ 2,500 ปีกว่ามานี่เอง
- การเรียกชื่อผ้าบังสุกุลในพระราชพิธี ตัวอย่างการเรียกชื่อผ้าบังสุกุล หรือผ้าที่ทอดหน้าพระศพ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ บริเวณทุ่งพระเมรุท้องสนามหลวง ช่วงระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤศจิกายน 2551 อันถือเป็นพระราชพิธีประวัติศาสตร์ ที่ทั้งพิธีรัฐหรือพิธีทางราชการ และพิธีราษฎร์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียกชื่อผ้าบังสุกุลได้อย่างเหมาะสม ดังนี้
- หมายกำหนดการพระราชพิธี พระราชทานเพลิงพระศพ (ที่เกี่ยวกับการเรียกชื่อผ้าที่ทอดหน้าพระศพและที่พระจิตกาธาน) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 เวลา22.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มายังพระที่นั่งทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ 30 รูป พระสงฆ์สดับปกรณ์ จากนั้น เสด็จฯ ประทับมุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทชั้นผู้ใหญ่ขึ้นถวายพระเพลิงพระศพ เมื่อเจ้าพนักงานปฏิบัติการถวายพระเพลิงพระศพสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ขึ้นพระเมรุ ทรงทอดผ้าไตรที่พระจิตกาธาน พระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ แล้ว เสด็จฯ กลับ หมายกำหนดการ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ (ที่เกี่ยวกับการเรียกชื่อผ้าที่ทอดบนพระอัฐิ) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2551เวลา 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธี เก็บพระอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระอัฐิ และพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระเมรุมณฑลพิธีท้องสนามหลวง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นพระที่นั่งทรงธรรม จากนั้นเสด็จไปยังพระเมรุ ประทับพระราชอาสน์ข้างพระจิตกาธาน เจ้าพนักงานภูษามาลาเปิดผ้าเยียรบับคลุมพระอัฐิออก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระอัฐิบูชาพระสงฆ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทอดผ้าไตรสามหาบวางบนผ้าตาดที่ปิดคลุมพระอัฐิที่พระจิตกาธานครั้งละ 1 ไตร สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ 6 รูป สดับปกรณ์ หมายกำหนดการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ (ที่เกี่ยวกับการเรียกชื่อผ้าที่ทอดหน้าพระโกศพระอัฐิ) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ประดิษฐาน ณ พระแท่นสุวรรณเบญจดล แล้ว ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปพระประจำพระชนมวารสมเด็จพระบรมราชบุพการี และของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ แล้วถวายพัดรองที่ระลึกงานออกพระเมรุแด่พระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนา พระราชาคณะ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ พระรับอนุโมทนา 4 รูป และพระสงฆ์สดับปกรณ์ พระสงฆ์ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ ทรงทอดผ้าไตรถวาย พระสงฆ์ 30 รูปสดับปกรณ์พระอัฐิ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนาถวายอนุโมทนา (บนธรรมาสน์) พระ 4 รูป รับอนุโมทนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตรถวายพระเทศน์และที่รับอนุโมทนารวม 5 รูปสดับปกรณ์พระอัฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ถวายอดิเรกกลับ แล้วทรงทอดผ้าไตรอีก 10 ไตร ถวายพระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่เชิญออกมาในการพระราชกุศลนี้ เสด็จฯ กลับ
- ผ้าบังสุกุล ผ้าไตร และผ้าไตรบังสุกุลในแง่ความเป็นมา ทั้งผ้าบังสุกุล ผ้าไตร และผ้าไตรบังสุกุล ต่างก็มีที่มาอย่างเดียวกัน เพราะผ้าบังสุกุลผืนแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ก่อนจะพัฒนามาเป็นผ้าไตร และผ้าไตรบังสุกุล มีที่มาจากผ้าห่อศพนางปุณณทาสีที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาชักบังสุกุล นับแต่นั้น ผ้าบังสุกุลที่เดิมเป็นผ้าเปื้อนฝุ่น-เปื้อนสิ่งปฏิกูล เป็นเศษผ้า ผ้าเก่า ผ้าขาด ผ้าทิ้ง ผ้าอัปมงคล ได้ยกระดับเป็นผ้าคหบดีจีวรหรือผ้าป่าที่ห้อยอยู่ตามกิ่งไม้ ที่ดูดีมีคุณค่า จนพัฒนาล่าสุดเป็นผ้านุ่งผ้าห่มสำเร็จรูป มีสีสันสวยงามตามสมณนิยมบ้าง โลกนิยมบ้าง และพระราชนิยมบ้างจัดเตรียมไว้เป็นไตรเป็นห่ออย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สะดวกซื้อ สะดวกเก็บ สะดวกใช้อย่างเช่นที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
- ในแง่คุณค่า ทั้งผ้าบังสุกุล ผ้าไตร และผ้าไตรบังสุกุล ต่างก็ทำหน้าที่สำคัญ คือเป็นสื่อแทนศพและร่างกายผู้วายชนม์เหมือนกัน เพราะการบำเพ็ญกุศลเกี่ยวกับศพ หรือผู้วายชนม์ที่มีการทอดผ้าบังสุกุล ผ้าไตร และผ้าไตรบังสุกุลทุกครั้งเท่ากับว่าผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้วายชนม์ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลผลบุญให้กับตนเอง โดยการอุทิศอสุภซากต่างดอกไม้พระอรหันต์ให้พระภิกษุได้เจริญมรณสติ พิจารณาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ส่งเสริมอสุภซากของผู้วายชนม์ให้เกิดคุณประโยชน์แก่การประพฤติปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ ซึ่งจะทำให้อสุภซากของผู้วายชนม์ก่อเกิดคุณค่าไม่น้อยหน้าไปกว่าสัตว์โลกชนิดอื่น ๆ ที่วัดคุณค่าและความดีที่เนื้อหนัง ในแง่เศรษฐกิจ อาจทำให้เห็นความแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากในอดีตผ้าค่อนข้างหายาก ยิ่งเป็นผ้าไตรเต็มทั้งชุดด้วยแล้ว ยิ่งหายาก และราคาแพง ในการบำเพ็ญกุศลทอดผ้าบังสุกุลศพจึงมักนิยมใช้ผ้าสบงเป็นหลัก โดยเฉพาะในวัดต่างจังหวัดที่ห่างไกลกันดาร เวลาทอดผ้าบังสุกุล พิธีกรที่เรียนเชิญแขกผู้มีเกียรติขึ้นทอดผ้า ก็จะเรียกชื่อผ้าสบงบังสุกุลว่า “ผืน” ตามลักษณะนามของผ้า แต่ในปัจจุบันเครื่องจักรตัดเย็บผ้านุ่งผ้าห่มของพระภิกษุมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลิตได้ครั้งละมาก ๆ สบง จีวร และสังฆาฏิของพระภิกษุ หาได้ง่าย ผู้มีจิตศรัทธาสามารถซื้อหานำพาไปถวายพระได้โดยสะดวก ในการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ แม้แต่ศพไร้ญาติขาดมิตรที่ไม่มีเงินค่าทำศพ ทางวัดก็ยังให้การสงเคราะห์จัดหาผ้าไตรบังสุกุล มาใช้ในพิธีทอดผ้าหน้าศพหรือที่จิตกาธาน ก่อนจะประกอบพิธีฌาปนกิจตามมีตามเกิดได้อย่างไม่ลำบาก
- ส่วนการเรียกชื่อที่ต่างกันออกไปเป็นผ้าบังสุกุล ผ้าไตร และผ้าไตรบังสุกุล ก็มิใช่ประเด็นสำคัญแต่อย่างใด เพราะการเรียกชื่อว่า ผ้าไตร ในพระราชพิธี และผ้าบังสุกุล และผ้าไตรบังสุกุล ในพิธีรัฐหรือพิธีราษฎร์ทั่วไป ล้วนแต่อนุโลมเรียกตามลักษณะนามของผ้าว่า “ผืน” หรือ “ไตร” ตามลักษณะนามของผ้า ทั้งคำว่าผ้าไตรก็มิใช่คำราชาศัพท์แต่อย่างใด เมื่อนำไปใช้ในพระราชพิธี จึงต้องเสริมบริบทด้วยคำราชาศัพท์ว่า สดับปกรณ์ ประกอบท้ายแทนคำว่า บังสุกุล ส่วนผ้าบังสุกุล ผ้าไตร และผ้าไตรบังสุกุลที่อาจต่างกันบ้างที่สีสัน เพราะในพระราชพิธีจะนิยมผ้าสีพระราชนิยม ซึ่งสีไม่เหลือง ไม่แดง และไม่เข้มมาก แต่ออกสีกลักน้อย ๆ หรือ สีแก่นขนุนอ่อน ๆ ในขณะที่พิธีรัฐและพิธีราษฎร์จะคำนึงถึงผ้าสีสมณนิยมของวัดนั้น ๆ เป็นสำคัญ
- สรุป ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าท่านผู้อ่านให้เกียรติติดตามอ่านบทความเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงบรรทัดนี้ ย่อมสามารถตอบปัญหาว่าด้วยผ้าบังสุกุล หรือผ้าที่ทอดหน้าศพได้ทุกคำถาม เช่น บังสุกุล แปลว่าอะไร ความหมายของผ้าบังสุกุลที่ค่อย ๆ พัฒนาการควบคู่มากับพระพุทธศาสนาที่ผ่านมาอย่างไร ปฐมบทของผ้าบังสุกุลเกิดมีมาแต่สมัยไหน และมหัศจรรย์อย่างไร ทำไมผู้สันทัดกรณีจึงยกย่องผ้าบังสุกุลผืนแรกของโลกและผืนประวัติศาสตร์ในพระพุทธศาสนาว่า ผ้ามหาบังสุกุล เมื่อไหร่สมควรใช้คำว่าผ้าบังสุกุล พิธีไหนใช้คำว่าผ้าไตร โอกาสไหนใช้คำว่าผ้าไตรบังสุกุล ทำไมจึงไม่ควรนำคำว่า ผ้ามหาบังสุกุล มาใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพในปัจจุบัน และเมื่อถึงคราวจะต้องปฏิบัติในชีวิตจริง ก็สามารถนำไปใช้เรียกได้อย่างถูกต้อง สอดรับกับพิธี และมีเหตุผลรองรับ เพียงเท่านี้ก็เท่ากับท่านผู้อ่านได้มีส่วนร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหาว่าด้วยผ้าบังสุกุลแล้ว
วารสารร่มประดู่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น